สาระ

ภูมิศาสตร์

ภูมิศาสตร์ (Geography) มาจากภาษากรีก (geographia) หมายถึง การบรรยายเกี่ยวกับโลก เป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับ สิ่งแวดล้อม มุ่งอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดบนพื้นผิวโลก ทั้งที่เป็นลักษณะทางกายภาพที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ อากาศ มหาสมุทร ฯลฯ และศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเกษตรกรรม การขนส่ง การวางผังเมือง ฯลฯ ภูมิศาสตร์เป็นศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการศึกษาพื้นผิวโลก และพยายามอธิบายความซับซ้อนของมนุษย์และความซับซ้อนของธรรมชาติ

ภูมิศาสตร์ได้ถูกจำแนกออกเป็น 3 แขนงหลัก ได้แก่ ภูมิกายภาพ (Physical Geography) และ ภูมิศาสตร์มนุษย์ (Human Geography) และ ภูมิศาสตร์เทคนิค (Geographic Techniques) อย่างไรก็ตาม การศึกษาด้านภูมิศาสตร์มีความจำเป็นต้องอาศัยการสังเกต (Observation) การสำรวจ  (Exploration) การวัด (Measurement) และนำเสนอข้อมูลพื้นที่ออกมา และสื่อที่นิยมที่สุดในการแสดงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลก ได้แก่ แผนที่ (Map)  ซึ่งเป็นการแสดงสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกบันทึกลงบนกระดาษแบนราบ แม้ว่าในอดีต ดังเช่นสมัยกรีกแผนที่ยังไม่สามารถแสดงลักษณะพื้นผิวโลกได้ถูกต้องมากนัก แต่การสำรวจและการเดินเรือในยุคต่อมา ได้ทำให้การทำแผนที่ (Cartography) มีความถูกต้องน่าเชื่อถือมากขึ้น นอกจากนี้ด้วยวิทยาการที่ทันสมัย การศึกษาทางด้านภูมิศาสตร์ รวมทั้งศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือ และเทคนิควิธีการศึกษาเกี่ยวกับโลกที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo-information Technology) ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาวิจัยและการบริหารจัดการพื้นที่ เครื่องมือที่เป็นที่รู้จัก เช่น ภาพถ่ายจากดาวเทียม รูปถ่ายทางอากาศ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System) ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (GPS) การสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ (UAV) เป็นต้น

เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ (Geographic Tools) เป็นหนึ่งในเนื้อหาสาระที่สำคัญของการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในทักษะทางภูมิศาสตร์ (Geographic Skills) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของ การรู้เรื่องภูมิศาสตร์ (Geo-literacy) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เนื้อหาการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จึงได้มีการบรรจุเนื้อหาสาระเกี่ยวกับเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ไว้ด้วย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ในการแสวงหาความรู้ในส่วนของเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้แผนที่ในการอธิบายทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนที่อยู่อาศัย การสืบค้นการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติโดย การอธิบายลักษณะทางกายภาพของทวีปต่างๆ เป็นต้น

นิยาม "เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ (geographic tools) หมายถึง อุปกรณ์ที่ช่วยให้ทราบตำแหน่งที่ตั้ง ขอบเขต ความสัมพันธ์ของข้อมูล ได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และทันสมัยอยู่เสมอ สามารถจัดเก็บหรือเรียกใช้ได้อย่างเป็นระบบเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมการวางแผนการใช้ที่ดินและผังเมือง

สาระภูมิศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐)

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ

ความสำคัญของการศึกษาเกี่ยวกับเครื่องมือทางภูมิศาสตร์
สาระภูมิศาสตร์ เป็นหนึ่งในสาระสำคัญในการเรียนการสอบระดับพื้นฐาน มีลักษณะเป็นศาสตร์ที่มีทั้งความเป็นวิทยาศาสตร์ (Science) และ สังคมศาสตร์ (Social Sciences) ภูมิศาสตร์จึงสามารถบูรณาการการเรียนรู้กับศาสตร์อื่น ได้ ทั้งประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น ประกอบกับสถานการณ์ของโลก รวมทั้งประเทศไทยที่ต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ปัญหาภัยพิบัติ การศึกษาจึงจำเป็นต้องยกระดับความรู้และทักษะทางภูมิศาสตร์ ความรู้ทางภูมิศาสตร์ให้กับผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาจาก “ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง สาระภูมิศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)” ได้มีการจัดลำดับการเรียนรู้ โดย ระดับประถมศึกษา เรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวไปไกลตัวทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเรียนรู้ลักษณะทางภายภาพของทวีปต่าง ๆ ที่มีผลต่อมนุษย์ ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ปัญหาภัยธรรมชาติ